ERP

 

 มองโลจิสติกส์ในหลายมิติกับ ดร.ปรีชา พันธุมสินชัย


ผู้เขียน: ดร.ปรีชา พันธุมสินชัย ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมฯ ตั้งแต่ปีค.ศ. 2002 – 2006 และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราภิชานในสาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ เงินทุนศาสตราจารย์บริษัทในเครือล่ำซำ ระหว่างปี 2003-2006 นับเป็นศาสตราภิชานคนที่ 8 ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากความสนใจในงานด้านการศึกษาและบริการวิชาชีพด้านการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนแล้ว ดร.ปรีชายังเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทเอ็มโฟกัส จำกัด ให้บริการด้านระบบสารสนเทศให้กับภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี ค.ศ.1993

............................................................................................

            การดำเนินไปของสายการผลิตอย่างราบรื่น เกิดขึ้นจากหลายขั้นตอนประกอบกัน เช่น การจัดสรรวัตถุดิบ การผลิต การบรรจุหีบห่อ ฯลฯ ขั้นตอนเหล่านี้อยู่ในส่วนของการผลิต แต่หลังจากนั้นส่วนสำคัญอีกส่วนที่ ช่วยเอื้ออำนวยให้สินค้านั้นถูกนำไปใช้งานตามหน้าที่ การใช้สอย สร้างมูลค่าให้แก่สินค้าและส่งผลตอบแทนเป็นเม็ดเงินคืนไปยังผู้ผลิตคือ การขนส่งและกระจายสินค้า การเคลื่อนย้ายสินค้าจากแหล่งผลิต การจัดเก็บสินค้าในคลังสินค้า เหล่านี้เป็นขั้นตอนที่เรียกรวมๆ ได้ว่า “โลจิกติกส์” (Logistics) จึงมีความสำคัญในแง่ของการเป็นกิจกรรมเชื่อมโยงระหว่างขั้นตอนการผลิตและการบริโภค ช่วยให้วงจรการผลิตและบริโภคเป็นไปโดยสมบูรณ์

            กิจกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Activities) ครอบคลุมมากมายหลายส่วน แต่ละส่วนสอดคล้องและส่งผลกระทบต่อกัน การดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Activities)จำเป็นต้องใช้ทั้งประสบการณ์และความรู้หลายๆ สาขา เมื่อโลจิสติกส์ (Logistics) มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความไหลลื่นของกระบวนการทางธุรกิจ สร้างรายได้ให้แก่ผู้ผลิตสินค้า โลจิสติกส์ (Logistics) จึงส่งผลโดยตรงกับการสร้างรายได้ของประเทศด้วย

           เมื่อไม่นานมานี้โลจิสติกส์ ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในระดับชาติ ตามความต้องการของรัฐบาลที่เร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศจากผลผลิต ทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่การพาณิชย์ทั้งภายใน และระหว่างประเทศต่อไป ความสำคัญของโลจิสติกส์ (Logistics) จึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่ผู้ประกอบการในภาคเอกชนเพียงฝ่ายเดียว

          แต่ละคนให้ความสำคัญกับ “โลจิสติกส์” (Logistics) ต่างกันไป บางคนไม่รู้จักว่าคืออะไร บางคนคุ้นเคยแต่ไม่เข้าใจความหมาย บ้างเข้าใจแต่ไม่เห็นความสำคัญ เมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้วการรวมตัวขึ้นเป็นหน่วยงานเล็กๆ หน่วยงานหนึ่ง ด้วยจุดประสงค์เพื่อพัฒนา โลจิสติกส์ (Logistics) ในประเทศไทย ผ่านการดำเนินกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ มากมาย มีการประสานร่วมมือจากหลายหลายองค์กรปัจจุบัน “ชมรมไทยโลจิสติกส์และการผลิต” ได้เติบโตขึ้นเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทชัดเจนขึ้นในนาม “สมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต” (TLAPS) สมาคมวิชาชีพที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาให้บุคลากรในงานโลจิสติกส์ของประเทศมีศักยภาพทัดเทียมนานาชาติ มีความรู้ความสามารถในการจัดการการผลิตและการจัดส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสนับสนุน ให้อุตสาหกรรมของไทยสามารถเข้าสู่การค้ายุคอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ปัจจุบัน TLAPS มีสมาชิกประมาณ 300 คน กิจกรรมต่างๆ ดำเนินไปภายใต้การบริหารของนายกสมาคมสมัยปัจจุบัน ดร.ปรีชา พันธุมสินชัย

โลจิสติกส์เป็นเรื่องของการจัดการที่ควบคู่กันไปกับการผลิต

         โลจิสติกส์(Logistics)เป็นเรื่องของการจัดการ การจัดสรร วางแผนให้อุปกรณ์ เครื่องมืออำนวยความสะดวกต่างๆ กิจกรรม และบุคลากร ดำเนินไปอย่างสอดคล้องกันและเกิดประสิทธิผล บางครั้งโลจิสติกส์ (Logistics) เกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องมีรถบรรทุกหรือคลังสินค้าเลย แต่ต้องอาศัยการจัดการและระบบที่ดีเยี่ยม

          ดร. ปรีชา กล่าวว่า สมาคมไทยโลจิกติกส์และการผลิต เป็นสมาคมที่มุ่งไปที่การจัดการ ดร. ปรีชา เชื่อว่า ในวันนี้ การจัดการเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกธุรกิจ ต่างยืนอยู่บนการจัดการ ดังนั้นการจัดการโลจิสติกส์ (Logistics) และการจัดการการผลิตจึงแยกกันไม่ได้ วันนี้การวางแผนต้องทำเป็น Supply Chain หรือเป็นโซ่อุปทาน มองตั้งแต่การผลิตไปถึงการขนส่ง และไปถึงลูกค้าเป็นเหตุผลให้คำว่า “การผลิต” เป็นคำต่อท้ายอยู่คู่กับ “โลจิสติกส์” ไม่ว่าจะในชื่อชมรมและชื่อสมาคมไทยโลจิสติกส์ฯ เป็นการแสดงให้เห็นว่าทั้งสองส่วนต้องอยู่ควบคู่กันไป

          โลจิสติกส ์(Logistics) เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน ทั้งโดยตัวของโลจิสติกส์(Logistics) เองและความสัมพันธ์ต่อสิ่งอื่นๆ เมื่อพูดถึงโลจิสติกส์(Logistics) จึงขึ้นอยู่กับว่า กำลังกล่าวถึงโลจิสติกส์(Logistics) ในแง่ไหน ในการผลิตหากการผลิตมีขนาดใหญ่ โลจิสติกส์(Logistics) เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่สามารถละเลยได้ และกิจกรรมทาง โลจิสติกส์(Logistics) ของผู้ผลิตไม่ว่าจะดำเนินการเองหรือว่าจ้างให้ผู้ให้บริการทางด้านนี้ก็ตาม ล้วนพึ่งพิง อยู่กับโครงสร้างพื้นฐาน ทางการขนส่งของประเทศ อาทิ ถนนหนทาง ท่าเรือ รางรถไฟ ฯลฯ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาล

          “เราต้องแยกกัน ในส่วนของภาครัฐ ส่วนใหญ่ภาครัฐจะพูดถึงการลงทุน การพัฒนาโครงสร้าง เพื่อให้การเคลื่อนย้าย หรือการไหลของคนกับสินค้า เป็นไปด้วยดี รวมทั้งการเชื่อมต่อกับต่างประเทศ อย่างสนามบินสุวรรณภูมิที่กำลังทำอยู่ ก็จะเป็น Hub สำคัญที่จะช่วยให้การคมนาคม และขนส่งสินค้าผ่านทางอากาศทำได้กว้างไกลและคล่องตัวมากขึ้น โลจิสติกส์(Logistics)ในแง่ของสินค้าอุตสาหกรรม เช่น การขนถ่ายสินค้าอย่าง ปูนซีเมนต์ น้ำตาล และข้าว ฯลฯ ก็จะเกี่ยวโยงกับภาคอุตสาหกรรมมาก แต่ถ้าเป็นการขนส่งมวลชน ก็เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์(Logistics) ด้วย อย่างเช่นเครื่องบิน ก็จะมีทั้งขนส่งคนและส่วนของ Cargo ไปลำเดียวกันก็มี หรือสายการบินที่ทำการขนส่งอย่างเดียวก็มีมาก”


           ด้วยเหตุนี้โลจิสติกส์
(Logistics) จึงมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับมุมมองแต่ละต้าน โลจิสติกส(Logistics)์ยังแบ่งออกป็น Engineering Logistics เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการสร้าง อย่างการสร้างสะพาน มีเรื่องของสถิติเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งตัวสะพานเองและตอนขนวัสดุจะมาสร้าง และ Business Logistics เป็นส่วนหนึ่งของโซ่อุปทานเกิดขึ้นในหน่วยผลิตภาคธุรกิจเพื่อตอบสนองผู้บริโภค

ถนนเป็นช่องทางการขนส่งที่ใช้กันมากที่สุด แต่ระบบรางยังไม่เป็นที่นิยม

           ในการขนส่งสินค้าอุตสาหกรรม ช่องทางที่เลือกใช้ขนส่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ชนิดของสินค้า สินค้าที่มีน้ำหนักมากนิยมขนทางเรือหรือรถบรรทุก ถ้าเป็นทางเรือก็เสียค่าใช้จ่ายต่ำกว่า นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับตัวแปรอื่นอย่างรวดเร็ว หากต้องการให้ขนส่งสินค้าได้เร็วก็ต้องเลือกช่องทางขนส่งทางอากาศรวมถึงปัจจัยอื่น ๆ อย่างปริมาณสินค้า เช่น น้ำตาล หากขนส่งทางรถ รถหนึ่งคันบรรทุกได้ 30 หรือ 26 ตัน ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดในขณะที่เรือบรรทุกได้ 800-900 ตัน/เที่ยว แต่หากขนทางเรือก็ต้องพิจารณาถึงจุดเชื่อมต่อในการรับสินค้า อาจต้องใช้รถรับสินค้าไปอีกทอด ในกรณีที่ส่งออกก็ค่อนข้างสะดวกเพราะสามารถดูดสินค้าขึ้นเรืออีกลำหนึ่งแล้วส่งออกได้เลย เป็นต้น

            “ผมเชื่อว่าผู้ประกอบการทุกคน ผู้ขนส่ง ผู้ใช้บริการ การขนส่ง ต่างก็พยายามหาทางที่ประหยัดที่สุดเท่าที่เขารู้ ผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า การขนส่งในบ้านเราทำได้ดีพอสมควร เพราะโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องของการขนส่งทางถนน ในบ้านเราค่อนข้างดี แต่หากน้ำมันราคาแพงขึ้นมาก ทุกคนก็อาจจะต้องเลือกทางอื่น อย่างทางรถไฟนี่ประหยัดกว่า แล้วขนได้ครั้งละมากกว่า หรืออาจจะหันไปพัฒนาลำน้ำ ก็อาจช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับเวลาที่เราต้องการในการขนส่ง และเงื่อนไขอื่น เช่น ที่พักสินค้า ก่อนที่จะถ่ายขึ้นไปอีก ออกไปจุดหมายปลายทางอีกที”

             ดร. ปรีชา มีความเห็นว่าการขนส่งทางรถไฟ ในบ้านเรายังไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร ช่วงสามสิบถึงสี่ลิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ลงทุนสร้างถนนไปมาก เป็นผลให้ปัจจุบันการใช้ถนนหนทางจึงมีมากตามไปด้วย การขนส่งทางถนนน่าจะสูงถึง 70-80 % ในขณะที่การขนส่งทางรถไฟกลับไม่ได้รับการพัฒนามากนัก ความไม่สมดุลนี้ค่อนข้างเห็นได้ชัด
การขนส่งนิยมว่าจ้างบุคคลภายนอก มีผู้ผลิตสินค้าไม่กี่รายดำเนินงานเอง การขนส่งเป็นกิจกรรมที่ปฏิบัติกันในสังคม อยู่ตลอดเวลาเป็นปกติ ทุกวันนี้จากปริมาณการขนส่งทั้งหมดของประเทศ มีจำนวนไม่น้อย ที่ดำเนินงานโดยบริษัท ผู้ให้บริการขนส่ง (Service Provider) ที่ผู้ผลิตสินค้าเป็นผู้ว่าจ้างให้ขนส่งสินค้าไปตามที่ต่าง ๆ ผู้ผลิตสินค้าไม่กี่รายที่ดำเนินการขนส่งด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ที่คิดคำนวณแล้วว่าเป็นผลดีกว่า หากดำเนินการขนส่งเอง แม้ว่าการดำเนินการเองจะใช้ต้นทุนสูงก็ตาม ผู้ให้บริการขนส่งสินค้า จึงเป็นบุคคลภายนอกที่เข้ามารับจ้างขนส่ง เป็นที่รู้จักกันในนาม Third Party ดร. ปรีชา มองว่า third Party จะเป็นแนวโน้มสำคัญชองโลจิสติกส์(Logistics)ในอนาคต

        “ผมคิดว่า แนวโน้มในเรื่องของโลจิสติกส์(Logistics) อย่างโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำการส่งออก ถ้าเป็นผู้ผลิตภายในประเทศส่วนใหญ ่เมื่อเขาผลิตสินค้าออกมา แล้วส่งออกก็จะใช้ Third Party กันมาก ในการขนส่งไปในจุดและจังหวะที่ต้องการต้องอาศัยการวางแผน ผู้ว่าจ้างก็ต้องเจรจากับ Third Party ตกลงกันให้ดี ตอนนี้บริษัท Third Party Logistics Provider ก็เป็นบริษัทข้ามชาต ิที่เข้ามาในประเทศมาก แต่ก็ยังโชคดีที่เรามีกฎหมายที่ไม่ได้เปิดเสรี 100 % ตรงนี้ก็หวังว่าบ้านเราจะไม่เปิด 100 % จนกว่าจะพร้อมให้คนไทยทำธุรกิจทางด้านนี้ อันนี้เป็นสิ่งที่เราพูดกันในแวดวงวิชาการ แต่ถ้าถามความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่าหลาย ๆ อย่างที่เราเปิด บริษัทข้ามชาติก็จองไปหมดแล้ว”

         เป็นที่ทราบกันดีว่า ธุรกิจในประเทศจำนวนมาก เป็นธุรกิจขนาด SMEs หากผู้ผลิตยังคงผลิตและขนส่งไปตามสภาพ ก็ดูจะสอดคล้องกันดี แต่เมื่อกิจการนั้นมีขนาดใหญ่ขึ้น ภาระในด้านนี้ก็จะใหญ่ขึ้น เป็นเงาตามตัว หากยังไม่มีระบบการวางแผนการจัดการที่ดีย่อมเกิดปัญหา การว่าจ้างบุคคลภายนอกจึงเป็นทางออกที่ดี ธุรกิจการขนส่งจึงเป็นธุรกิจที่ยังคงอยู่ได้และมีการแข่งขันกันพอสมควร

          การใช้บริการขนส่ง ผู้ว่าจ้างยังต้องวางแผน และจัดการระบบให้ดี ดร.ปรีชา ยกตัวอย่างซีเมนต์ไทยโลจิสติกส์ ที่ไม่มีรถสำหรับขนส่งเลย แต่มีระบบและบุคลากรดี ใช้วิธีว่าจ้างทั้งหมด แล้วจัดการ ทำเป็น Contract กับบุคคลที่สามให้ดำเนินการขนส่งให้ส่วนผู้ผลิตรายใดที่ซื้อรถ แล้วส่งของเอง ก็จะมีภาระของต้นทุนและการบำรุงรักษา รวมถึงบุคลากร หากไม่ดำเนินการเองก็อาจใช้วิธีเดียวกับที่ซีเมนต์ไทยโลจิสติกส์ใช้ อย่างไรก็ตามในเรื่องการวางแผนและจัดการระบบ ก็มีบริษัทที่ให้บริการด้านนี้เช่นกัน

โลจิสติกส์ในภาคอุตสาหกรรมมีการแข่งขันและพัฒนาไปตามธรรมชาติ

           จากงานวิจัยของนิสิตปริญญาโท คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับแนวโน้มของระบบการขนส่งและกระจายสินค้าในประเทศไทยอีก 5 ปีข้างหน้า ที่ ดร.ปรีชา เป็นที่ปรึกษาพบว่า ผู้ใช้บริการรับส่งสินค้า ไม่ต้องการลงทุนในการขนส่ง เพราะต้นทุนสูง

           “ตรงนี้ถ้าหากว่า ภาครัฐจะเข้ามาช่วยเอื้อในเรื่องภาษีสำหรับผู้ที่ต้องการจะลงทุนจริง ๆ ก็อาจะช่วยทำให้คนกล้าลงทุนมากขึ้น งานวิจัยชิ้นเดียวกันนี้ยังพบว่าแนวโน้มการว่าจ้างบุคคลที่ 3 จะเพิ่มขึ้น การใช้ 3PL หรือ Third Party Logistics จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ตรงนี้ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกัน นอกจากนี้ผู้ใช้บริการเขายังให้คำแนะนำว่า ผู้ให้บริการควรฝึกบุคลากรในเรื่อง ความสุภาพ ความรู้ความเข้าใจลักษณะของสินค้าที่ขนส่ง Handle ได้ สามารถบริการให้ดี ในราคาที่ไม่แพง ”

           “การเก็บข้อมูลอันนี้เราถามกว้าง ๆ ผู้ให้บริการที่ดีและราคาไม่แพงอาจจะมีแต่หายากหน่อย แล้วยังมีข้อเสนอแนะให้ผู้ประกอบการรวมตัวกันเพื่อจะได้ลดต้นทุน เพื่อใช้ทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

           ดร.ปรีชา กล่าวถึงการรวมตัวกันของผู้ประกอบและธุรกิจว่า เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ตามแรงกดดันของสภาพแวดล้อม เมื่อผู้ประกอบการรายอื่นในตลาดมีการรวมตัวกัน รายอื่น ๆ ก็จำเป็นต้องทำตามกันไปไห้ตกขบวน การรวมตัวกันก็ส่งผลดีต่อทั้งสองฝ่าย ในแง่ของการประหยัด และต่างมุ่งสู่จุดหมายเดียวกันคือสร้างความพอใจให้ลูกค้า บางทีแม้จะเป็นคู่แข่งกันแต่ก็อาจมาร่วมมือกันได้

           “กลไกตามธรรมชาติมีอยู่เพราะแรงกดดัน แต่ก่อนบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาพูดเรื่อง Supply Chain จากที่เคยสงสัยว่าคืออะไร ในวันนี้เราก็พัฒนาไป อัตราการพัฒนาผมก็คิดว่ากำลังจะเร็วขึ้นเป็นเพราว่าภาคการศึกษาก็มาให้ความสนใจ มีหลายสถาบันการศึกษา ที่เปิดหลักสูตรโลจิสติกส์ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ ในวันนี้ผมคิดว่าทางภาควิชาบริหารธุรกิจควรจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ผลิตคนไปสู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น”

           
“ส่วนคนที่ทำงานด้านนี้จริงๆ ที่ทำอยู่ทุกวัน ก็มีธุรกิจฝึกอบรม มีหลายบริษัทมาก ที่ทำด้านนี้ ดังนั้น ผมไม่เป็นห่วง เพราะนั่นเป็นธุรกิจ ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจฝึกอบรม มีคนขายก็มีคนซื้อ ก็แข่งขันกันไป สุดท้ายก็พัฒนากันไปเอง แต่สุดท้ายแล้ว คำถามก็คือว่า มีมาตรฐานแค่ไหน ที่ไปฝึกๆ กันมา เชื่อถือได้หรือเปล่า ตรงนี้ไม่แน่ ไม่มีใครมาทดสอบ ดังนั้นเราจึงควรมีมาตรฐานของเรา”

ประสบการณ์ การศึกษา และพื้นเพของคนลุยงานโลจิสติกส์

สำหรับผู้สนใจจะเข้ามาทำงานสายโลจิสติกส์(Logistics) ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องศึกษามาในด้านนี้โดยตรง เพราะโลจิสติกส์เป็นเรื่องที่เรียนรู้กันได้ จากประสบการณ์ จากการปฏิบัติ ส่วนผู้ที่ศึกษามาตรงสายก็จะค่อนข้างได้เปรียบมากกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้น ก่อนอื่นควรสำรวจตัวเองว่ามีคุณสมบัติเข้ากันได้กับงานโลจิสติกส(Logistics)์หรือไม่

            “งานด้านโลจิสติกส์ค่อนข้างซับซ้อน คนที่จะก้าวมาเป็นมืออาชีพทางด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ต้องเป็นคนที่มีความสามารถในการวางแผน รู้จักใช้เทคโนโลยี รู้หลักการจัดการในระบบโลจิสติกส์ เข้าใจคณิตศาสตร์ เล่นกับตัวเลขได้ สามารถจัดการโลจิสติกส์ด้วยต้นทุนที่ต่ำ ขณะเดียวกันไม่ละเลยการให้บริการที่ดี รู้ความต้องการของลูกค้า สองอย่างหลังนี่ถือเป็นหัวใจของโลจิสติกส์ ”

            สำหรับตัว ดร.ปรีชา เอง การก้าวสู่เส้นทางโลจิสติกส์มีที่มาจากการได้รู้จักกับ ดร.กฤษฏ์ ฉันทจิรพร ประธานชมรมไทยโลจิสติกส์คนแรก เป็นจุดที่ทำให้ก้าวเข้ามาจับงานด้านนี้จริงจังและด้วยภูมิหลังการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาโยธา จาก The University of New South Wales ประเทศออสเตรเลียจึงไม่แปลกที่ ดร.ปรีชา จะสามารถศึกษาและปฏิบัติงานโลจิสติกส์ ได้อย่างรอบด้าน นอกจากนี้ หน้าที่การงานปัจจุบันของ ดร.ปรีชา ยังเกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์โดยตรง ปัจจุบัน ดร.ปรีชา ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มโฟกัส (ล็อกซเล่ย์ ไอที กรุ๊ป) ผู้ให้บริการด้านซอฟแวร์ ERP (Enterprise Resource Planning)

           ความรู้ด้านเทคโนโลยีและโทรคมนาคม เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ที่คนทำงานโลจิสติกส์ (Logistics)ต้องศึกษา อะไร เพราะกำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการอำนวยความสะดวก เป็นเรื่องดีที่ปัจจุบันภาคเอกชน ของไทยมีเทคโนโลยีในด้านนี้เป็นของตนเอง พร้อมจะเชื่อกับผู้ให้บริการขนส่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามในศักยภาพคนไทยเรื่องเทคโนโลยีโลจิสติกส์เกี่ยวกับการเขียนระบบยังอ่อนอยู่

           “ในกลุ่มบริษัทที่ผมอยู่ เขามีการรวมตัวกันเพื่อที่จะให้บริการทางด้านนี้ เพราะเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีด้าน Tracking การติดตามการขนส่งว่าสินค้าของเราอยู่ตรงไหน อะไรพวกนี้เรามี และแผนที่เราค่อนข้างละเอียด วันนี้เรามีบริษัทที่ทำแผนที่ได้ละเอียดที่สุดในประเทศไทย และก็ยังมีอุปกรณ์ติดตามอะไรต่าง ๆ ในเรื่องของการติดตามรถ ตรวจสอบได้ว่ารถอยู่ตรงไหน เกิดอะไรขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคนไทยยังไม่เก่งในเรื่องของการเขียนระบบ พวกระบบวางแผนขนส่งสินค้าต่างๆ ”


            ในปี พ.ศ. 2546 ดร.ปรีชา ยังได้รับการแต่งตั้งจากสภามหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ให้เป็นศาสตราภิชาน สาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ จากกองทุนศาสตราจารย์บริษัทในเครือล่ำซำ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาโครงการการจัดการมหาบัณฑิตสาขาการจัดการธุรกิจ ระหว่างประเทศ ให้คำปรึกษากับภาควิชาและหลักสูตรต่างๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งร่วมทำวิจัยเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน ของสาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศในด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ฯลฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง: การจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management)
ู^ top


บริษัท เอ็มโฟกัส จำกัด
อาคาร ไอ ทาวเวอร์ ชั้น14 เลขที่ 888 ถ.วิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
ฝ่ายการตลาด: (662) 513-9892 ต่อ123-128   ฝ่ายบริการลูกค้า ต่อ110, 111, 112 โทรสาร: (662) 512-3890   
แผนที่จากกูเกิ้ล | แผนที่รูปภาพ  อีเมล์:marketing@m-focus.co.th
สงวนลิขสิทธิ์โดย บริษัท เอ็มโฟกัส จำกัด